“การบ้าน” ทำให้เด็กฉลาดขึ้นหรือไม่?

วันที่โพสต์: Nov 18, 2012 9:10:46 PM

การบ้านเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับการศึกษาในโรงเรียนมาเนิ่นนาน แต่เคยสงสัยกันไหมว่าการบ้านมีผลช่วยให้เด็กๆ ฉลาดขึ้นหรือไม่ มีวินัยมากขึ้นหรือไม่ รักการเรียนมากขึ้นไหม นอกจากนั้น การบ้านยังมีผลได้ที่ลดน้อยถอยลง เบียดบังเวลาเรียนรู้ด้านอื่นๆ แถมคุณครูแต่ละคนยังมี coordination failure ในการสั่งการบ้านด้วยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ประธานาธิบดีฝรั่งเศสเตรียมออกคำสั่งห้ามครูสั่งการบ้านนักเรียน เนื่องจากไม่ได้ช่วยให้เด็กฉลาดขึ้น (ดูข้อมูลประกอบที่นี่) อันที่จริงประเด็นนี้เป็นที่สนใจกันมาพอสมควรแล้ว โดยจุดเริ่มต้นมาจากหนังสือที่มีชื่อเสียงมากสองเล่มคือ The Homework Myth ของ Alfie Kohn และ The Case Against Homework ของ Sara Bennett และ Nancy Kalish หนังสือทั้งสองเล่มได้ยกเอาข้อมูล สถิติ งานศึกษา และการสำรวจจำนวนมากเพื่อพยายามชี้ให้เห็นว่า “การบ้าน(ที่มากเกินไป)ไม่ได้มีส่วนช่วยให้เด็กมีได้คะแนนสอบดีขึ้น”ข้อมูลที่น่าสนใจก่อนการวิเคราะห์ของหนังสือทั้งสองเล่ม ได้แก่– จากการสำรวจเด็กอเมริกัน 24,000 คนในปี 2004 ของมหาวิทยาลัยมิชิแกน พบว่า เด็กใช้เวลาทำการบ้านมากขึ้นกว่าในปี 1981 ถึง 51%– เด็กๆ ในชั้นเรียนระดับล่างจะมีอัตราการเพิ่มของการบ้านมากกว่าเด็กในชั้นเรียนที่สูงขึ้น

– เด็กในช่วงอายุ 6-8 ปี ใช้เวลาทำการบ้านเพิ่มจาก 52 นาทีต่อสัปดาห์ในปี 1981 เป็น 128 นาทีต่อสัปดาห์ในปี 1997 และดูเหมือนว่าในปี 2006 จะเพิ่มเป็น 78 นาทีต่อวันเลยทีเดียว

– ผลการสำรวจดังกล่าวไม่ได้ดูเหมือนเป็นจริงแค่ในสหรัฐอเมริกา เพราะประเทศที่ให้การบ้านน้อย(เกินไป) เช่น ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเชค และเดนมาร์ก จะมีคะแนนสอบมาตรฐานของเด็กสูงกว่าประเทศที่ให้การบ้านมาก(เกินไป) เช่น ไทย กรีซ และอิหร่าน

Cooper, Robinson and Patall (2006) หาความสัมพันธ์ของเวลาที่ใช้ในการทำการบ้านกับคะแนนสอบมาตรฐาน(ไม่เกี่ยวข้องกับคะแนนที่มาจากการบ้าน) ด้วยการหาค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) การวิเคราะห์ตัวแปรพหุ (Multivariate Analysis) และการวิเคราะห์สมการแบบโครงสร้าง (Structural Equations Model) แต่”ไม่”พบความสัมพันธ์ในทางบวกระหว่างเวลาที่ใช้ในการทำการบ้านกับคะแนนสอบ นั่นคือ การบ้านไม่ได้มีผลใดใดกับความฉลาดของเด็ก

นอกจากนี้ Cooper et. al (2006) ยังพบความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นเส้นตรงของการบ้านกับคะแนนสอบ นั่นคือ จำนวนการบ้านเป็นไปตามกฎของการลดน้อยถอยลง (Diminishing Return)

ภาพที่ ๑ แสดงความสัมพันธ์ระหว่างเวลาที่ใช้ในการทำการบ้านกับคะแนนสอบมาตรฐานของเด็กเกรด 4, 8 และ 12 (เทียบได้กับเด็ก ป.4, ม.2 และ ม.6) ซึ่งผลได้ที่ลดน้อยถอยลงนั้นมีความชัดเจนมากในเด็กเล็ก แต่จะมีความอดทนมากขึ้นเมื่อเด็กโตขึ้นตามอายุ(เกรด)

“ภาพที่ ๑ ความสัมพันธ์ระหว่างเวลาที่ใช้ในการทำการบ้านกับคะแนนสอบมาตรฐานของเด็กเกรด 4, 8 และ 12″

ที่น่าสนใจคือภาพที่ ๒ ซึ่งเด็กที่ไม่มีการบ้านกับเด็กที่มีการบ้านนั้น มีระดับผลการสอบที่แตกต่างกันน้อยมากๆ คือ เด็กที่ใช้เวลาทำการบ้านเฉลี่ยวันละ 1 ชั่วโมงจะมีคะแนนสอบเฉลี่ยอยู่ที่ 222 คะแนน กับเด็กที่ไม่มีการบ้านจะมีคะแนนสอบเฉลี่ยอยู่ที่ 212 คะแนน

“ภาพที่ ๒ ความสัมพันธ์ระหว่างเวลาที่ใช้ในการทำการบ้านกับคะแนนสอบมาตรฐานของเด็กที่ใช้เวลาทำการบ้านแตกต่างกัน”

……….

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของการบ้านอีกประการหนึ่งก็คือ อันที่จริงกระบวนการเรียนรู้ของเด็กควรเป็นแบบสม่ำเสมอและค่อยเป็นค่อยไป แต่การให้การบ้านของครูในแต่ละวิชานั้นมีแนวโน้มจะเป็นอิสระจากกัน จึงเกิดความล้มเหลวของการร่วมมือกันให้การบ้าน (Homework Coordination Failure) นั่นหมายถึง บางวันเด็กอาจจะมีการบ้านเยอะมาก บางวันก็อาจไม่มีเลย แทนที่จะกระจายอย่างสม่ำเสมอแม้ว่าจะมีการโต้แย้งว่า การบ้านอาจไม่ได้มุ่งหวังแค่ผลสอบที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังมุ่งหวังเพื่อสร้างนิสัยรักการเรียนด้วย อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่ตามมาจำนวนมากก็ยังไม่เห็นด้วยกับประเด็นนี้ เพราะการบ้านมีแนวโน้มที่น่าจะทำให้เด็กไม่รักการเรียนมากกว่า

นอกจากนี้ การบ้านยังทำให้เด็กมีโอกาสใช้เวลาในการออกกำลังกายน้อยลง มีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวน้อยลง และนอนน้อยลงด้วย ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญกับพัฒนาการของเด็กและการเป็นคนที่สมบูรณ์ของสังคมในอนาคตไม่น้อยไปกว่าการเป็นคนเรียนเก่งอีกด้วย

ทางออกที่ Kohn (ผู้เขียนหนังสือ The Homework Myth) เสนอคือให้ยกเลิกการบ้านไปเลย ขณะที่ Bennet and Kalish เสนอบนพื้นฐานงานวิจัยของ Cooper et. al (2006) ว่าให้มีการบ้านเพียงเล็กน้อย (ประมาณ 10 นาที) และไม่ต้องมีการบ้านในช่วงวันหยุดยาวหรือสุดสัปดาห์ด้วย

“ตัวอย่างของความล้มเหลวในการทำการบ้าน (ภาพจาก FaceBook ซึ่งไม่ทราบต้นตอแรกจริงๆ ครับ)”

……….

แม้ว่าข้อเสนอแนะของหนังสือทั้งสองเล่มจะดูขัดแย้งกับสถานการณ์ของโลกความเป็นจริง(รวมทั้งสังคมไทย)ไปมากทีเดียว แต่มันก็น่าจะทำให้เราฉุกคิดหรือนำมาศึกษาในกรณีเฉพาะของสังคมเราบ้างว่า “การบ้านเป็นผลดีกับการศึกษาของเด็ก…จริงหรือไม่”

และก็เป็นสิ่งที่น่าจะช่วยกันหาคำตอบต่อไป ^^

อ้างอิง :– Harris Cooper, Jorgianne Civey Robinson, and Erika A Patall (2006) Does Homework Improve Academic Achievement? A Synthesis of Research, 1987–2003. Review of Educational Research Spring 76: 1-62.

– Alfie Kohn (2007) The Homework Myth: Why Our Kids Get Too Much of a Bad Thing. Da Capo Press.

– Sara Bennett and Nancy Kalish (2007) The Case Against Homework: How Homework Is Hurting Children and What Parents Can Do About It. Three Rivers Press; Reprint edition.

ที่มา :  http://setthasat.com/2012/11/05/the-myth-about-homework/